สวัสดีค่ะ วันนี้จะพาทุกคนมารู้จักช้างเอราวัณสัตว์วิเศษแห่งป่าหิมพานต์ จะยิ่งใหญ่และอลังการขนาดไหน ตามมาดูกันค่ะ
เริ่มจากที่มาของ ชื่อช้างเอราวัณ ในภาษาสาสกฤต เรียกช้างเอราวัณว่า ไอราวาต ไอราวณ ภาษาบาลี เรียกว่า เอราวณ ส่วนในภาษาไทยเรียกว่า ไอราพต ไอราวัต ไอราวัณ และเอราวัณ ชื่อต่างๆ ทั้งหมดนี้ มีความหมายถึง น้ำ เมฆฝน รุ้ง แปลรวมว่ากลุ่มก้อนเมฆที่มีฟ้าแลบ และทำให้เกิดฝนตก โดยมีความสอดคล้องที่ว่า พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณท่องเที่ยวไปบนสวรรค์ แล้วทรงโปรยฝนให้ตกลงมายังโลก
(https://www.pinterest.com/search/pins/)
ในเรื่องรามายณะและความเชื่อของศาสนาฮินดู เชื่อกันว่าพระอินทร์มีพาหนะเป็นช้าง 3 เชือก คือเอราวัณ (พระศิวะเป็นผู้ประทานให้) ,คีรีเมขล์ไตรดายุด (พระพรหมเป็นผู้ประทานให้) , เอกทันต์ พระวิศณุเป็นผู้ประทานให้ ช้างทั้ง 3 เชือก เอราวัณเป็นช้างที่พระอินทร์โปรดปรานมากที่สุดและมีกำลังมากที่สุด เชื่อกันว่าช้างเชือกนี้เป็นเทพบุตรองค์หนึ่ง
ลักษณะของช้างเอราวัณ ช้างเทพเจ้าจะปรากฏในลักษณะของสัตว์วิเศษ ดังบทความในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ของรัชการที่ 2 ในตอนอินทรชิตแปลงกายเป็นพระอินทร์ ความว่า
“อินทรชิตบิดเบือนกายิน เหมือนองค์อมรินทร์
ทรงคชเอราวัณช้างนิมิตฤทธิแรงแข็งขัน เผือกผ่องผิวพรรณ
สีสังข์สะอาดโอฬาร์
สามสิบสามเศียรโสภา เศียรหนึ่งเจ็ดงา
ดั่งเพชรรัตน์รูจี
งาหนึ่งเจ็ดโบกขรณี สระหนึ่งย่อมมี
เจ็ดกออุบลบันดาล
กอหนึ่งเจ็ดดอกดวงมาลย์ ดอกหนึ่งแบ่งบาน
มีกลีบได้เจ็ดกลีบผกา
กลีบหนึ่งมีเทพธิดา เจ็ดองค์โสภา
แน่งน้อยลำเพานงพาล
นางหนึ่งย่อมมีบริวาร อีกเจ็ดเยาวมาลย์
ล้วนรูปนิรมิตมายา”
(บทละครรามเกียรติ์ : รัชกาลที่ 2)
จากเนื้อความข้างต้นคำนวณได้ว่า ช้างเอราวัณในเรื่องรามเกียรติ์มี 33 เศียร มีงา 231 งา มีสระ 1,617 มีกอบัว 11,319 กอ มีดอกบัว 79,233 ดอก มีกลีบดอกบัว 554,631 กลีบ มีเทพธิดา 3,882,417 ตน มีบริวาร 27,176,919 คน
บทบาทและหน้าที่อันสำคัญของช้างเอราวัณ คือ เป็นพาหนะที่นำเสด็จพระอินทร์ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งบนสวรรค์และมนุษย์โลก เพื่อดูแลทุกข์สุขของชาวโลก เป็นช้างศึกให้พระอินทร์ ออกไปทำการรบกับพวกอสูร ทำหน้าที่ดูแลโลกทางด้านตะวันออกควบคู่กับพระอินทร์ และเนื่องจากพระอินทร์ทรงหัวหน้าเทพที่กำกับดูแลดินฟ้าอากาศ มีวัชระสายฟ้าเป็นอาวุธ เป็นศัตรูกับความแห้งแล้ง นำความอุดมสมบูรณ์และความชุ่มฉ่ำสู่โลกมนุษย์ ช้างเอราวัณ จึงมีหน้าที่ดูดน้ำจากโลกขึ้นไปบนสวรรค์ ให้พระอินทร์บันดาลให้เกิดน้ำจากฟ้าตกลงสู่โลกมนุษย์ โดยเฉพาะประเทศทางเอเซีย และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จึงประทับใจและชื่นชมในตัวช้างเอราวัณที่ทำประโยชน์ให้แก่ชาวโลก
ช้างเอราวัณถือว่าเป็นเจ้าแห่งช้างทั้งปวงในสากลจักรวาล เป็นพาหนะคู่พระทัยของพระอินทร์ ด้วยเหตุนี้ช้างเอราวัณจึงเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของพระอินทร์ สัญลักษณ์ของการกระทำดี และสัญลักษณ์ของควมอุดมสมบูรณ์ และเหตุที่ทำเป็นรูปช้างสามเศียรแทน 33 เศรียรนั้น คงเป็นเพราะรูปแบบทางด้านศิลปะน่าจะมีความงดงามลงตัวมากกว่า
แหล่งอ้างอิง
THE ERAWAN GROUP.(ม.ป.ป). ตำนานเอราวัณ.ค้นเมื่อวันที่22กันยายน2562,จาก http://www.theerawan.com/th/about/myth_of_erawan.
LINE TODAY.(2562).เรื่องเล่าของช้างเอราวัณ...สิ่งศักดิ์สิทธฺ์ที่มักให้โชคลาภแก่ผู้ที่มีจิตศรัทธา.ค้นเมื่อวันที่22กันยายน2562,จากhttps://today.line.me/th/pc/article/
วัชรี กาชัย,บลรัตน์ พิศดำขำ,อรนุชา จันทรจุลเจิม,อุไรวรรณ ศรีสุระ,ุยุคลทิพย์ ใจขำ และ ชานุกร วรรณศิลป์.(ม.ป.ป.).สัตว์ในวรรณคดีไทย.กรุงเทพฯ:บริษัทบุ๊ค พอยท์ จำกัด.
Comments
Post a Comment